11 พฤษภาคม 2554
เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก!!! คว้าสุดยอดรางวัลใหญ่จากเวทีการแข่งขันโครงงานทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF 2011
ตลอดระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ของการแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF 2011 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-13 พฤษภาคม 2554 ณ ลอสแอนเจลิส คอนเวอร์ชั่น เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปีนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ กว่า 1,545 คน จาก 65 ประเทศทั่วโลก เงินรางวัลมูลค่าสูงถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศไทยได้ส่งน้องๆ เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 6 ทีม ซึ่งคนไทยทั้งประเทศก็ได้ดีใจ เมื่อตัวแทนเยาวชนของเราคว้ารางวัล Grand Award Intel Foundation Young Scientist มูลค่าเงินรางวัลสูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยเป็นรางวัลที่ บริษัทอินเทลl และสมาคม Society for Science and the Public จะคัดเลือกสุดยอดโครงงานที่ดีที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้เพียง 2 โครงงานเท่านั้น น้องๆ ที่เป็นตัวแทนของเราได้แก่ นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และนางสาวอารดา สังขนิตย์ ผู้พัฒนา “โครงงานพลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-Based Packaging Plastics from Fish Scale)” จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ และอาจารย์สุวารี พงศ์ธีระวรรณ นับเป็นครั้งแรกที่เยาวชนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับรางวัลนี้
นอกจากนี้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ ยังได้ส่งโครงงานเข้่าร่วมในงาน International Sustainable World Energy Engineering Environment Project Olympiad: ISWEEEP ครั้งที่ 4 ที่เมืองฮิวสตัน มลรัฐเท็กซัส เป็นครั้งแรก และน้องก็คว้าเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ Intel Best of Catagory Awards ในสาขา Environmental Management ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัล 5,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งชื่อของเยาวชนไทยทั้ง 3 คนนี้จะได้รับเกียรติให้นำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet) โดย Massachusetts Institute of Technology – Lincoln Laboratory, Ceres Connection
และยังมีอีกหนึ่งโครงงานจากประเทศไทยที่คว้ารางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 ในสาขา Engineering – Materials and Bioengineering มูลค่าเงินรางวัล 500 เหรียญสหรัฐ ได้แก่ นายธนทรัพย์ ก้อนมณี นางสาววรดา จันทร์มุข และนายนรินธเดช เจริญสมบัติ ผู้พัฒนาโครงการ “ผลของฟิล์มมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักต่ออการยืดอายุการเก็บรักษาชมพู่หลังการ เก็บเกี่ยว (Utilization of Mucilage Derived from Lemon Basil Seeds as Coating Substance for Fruit Preservation)” จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ศาสตรา พรหมอารักษ์
การแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเยาวชนที่ชนะเลิศจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่ง ประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competiton: YSC) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งจะมีการประกวดในช่วงเดือนสิงหาคม และกุมภาพันธ์ของทุกปี
นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่เยาวชนไทยสามารถแสดงศักยภาพให้ชาวโลกยอมรับในความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่มา: nectec.or.th